นิสสัน มาร์ช (Nissan March) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ นิสสัน ไมครา (Nissan Micra) เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (Subcompact Car) รุ่นหนึ่งที่ผลิตโดยบริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นชื่อ นิสสัน มีรูปทรงแบบ Hatchback (ท้ายกุด ไม่มีกระโปรงหลัง) ซึ่งในปัจจุบัน คนไทยหลายๆ คน เริ่มรู้จัก นิสสัน มาร์ช ในฐานะของรถอีโคคาร์ (Ecocar) ที่ประหยัดน้ำมันมาก (ประมาณ 20-25 กิโลเมตรต่อลิตร)
ในช่วง พ.ศ. 2516 ลากยาวไปจนถึงช่วง พ.ศ. 2523 ได้เกิดวิกฤติน้ำมันแพงขึ้นรอบหนึ่ง (ไม่ใช่รอบที่แพงอยู่ในปัจจุบันนี้) ผู้ที่ต้องการซื้อรถหลายคนจึงหันไปให้ความสนใจกับรถขนาดเล็ก ประหยัดน้ำมัน ซึ่งในขณะนั้น นิสสันได้ผลิตรถยนต์ Hatchback ขนาดเล็กมากและประหยัดน้ำมันอยู่แล้วรุ่นหนึ่ง ชื่อว่า นิสสัน เชอร์รี (Nissan Cherry) แต่ทว่า นิสสัน เชอร์รี กลับทำยอดขายได้ไม่ดีนักด้วยเหตุผลหลายประการ ทางนิสสันจึงเห็นว่า น่าจะทำรถ Hatchback ขนาดเล็กมากขึ้นมาใหม่รุ่นหนึ่งที่ต้องมีรูปทรงทันสมัย ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่(ในช่วงนั้น) บำรุงรักษาง่าย ขับขี่ง่าย ราคาไม่แพง และประหยัดน้ำมัน
ใน พ.ศ. 2521 นิสสันจึงได้จัดตั้งทีมงานพัฒนารถรุ่นดังกล่าว โดยตั้งชื่อโครงการนี้ว่า The KX Plan ซึ่งหลังจากทำการพัฒนาได้ 3 ปี ใน พ.ศ. 2524 นิสสันก็เปิดตัวรถต้นแบบรุ่นใหม่ก่อนการจำหน่ายจริง 1 ปี ใช้ชื่อต้นแบบว่า KX-018 แต่ยังขาดชื่อที่เหมาะสมในการจำหน่ายจริง นิสสันจึงได้จัดรายการประกวดตั้งชื่อรถรุ่นใหม่ขึ้น ซึ่งก็มีผลตอบรับดีมาก ภายในระยะเวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง มีผู้ส่งชื่อร่วมประกวดสูงถึง 5.65 ล้านคน แต่ทว่า เมื่อประกาศผลโหวตออกไป ชื่อที่ได้รับการโหวตสูงสุดเป็นอันดับแรกๆ ได้แก่
คณะกรรมการการประกวด เห็นว่า ชื่อส่วนใหญ่ที่ถูกส่งมาประกวด ไม่เหมาะสมกับรถอย่างรุนแรง แต่หลังจากได้อ่านชื่อที่ถูกส่งมาประกวดทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ตัดสินใจใช้ชื่อในลำดับที่ 164 ของตาราง คือชื่อ March ซึ่งมีคนส่งชื่อนี้มาเพียง 4,065 คน (จาก 5.65 ล้านคน) ซึ่งเมื่อดูความหมายตามพจนานุกรมแล้ว March นอกจากจะแปลว่า "เดือนมีนาคม" หรือ "การเดินสวนสนาม" แล้ว ยังแปลว่า "การมุ่งไปข้างหน้า" หรือ "กรีธาทัพ" ได้อีกด้วย
นิสสัน มาร์ช รุ่นที่ 1 ใช้รหัสตัวถังว่า K10 ในการเปิดตัวได้มีการนำ Masahiko Kondou นักแข่งรถ Formula Nippon และเป็น Idol ยอดนิยมของวัยรุ่นญี่ปุ่นในช่วงนั้นมาเป็นพรีเซนเตอร์ ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ เครื่องยนต์ตัวแรกและดั้งเดิมของมาร์ช K10 คือเครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์ MA10S 4สูบ SOHC 8 วาล์ว 987 ซีซี ในการขับขี่บนท้องถนนจริง พบว่า นิสสัน มาร์ช รุ่นแรก มีอัตราการใช้น้ำมันประหยัดมาก คือ 21 กิโลเมตร/ลิตร และจากการทดสอบพบว่า หากขับขี่ด้วยความเร็วคงที่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมงแล้ว จะสามารถประหยัดน้ำมันได้ถึง 32.5 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งในภาพรวมนิสสัน มาร์ช รุ่นแรก ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม อีกทั้งมีการคิดค้นรุ่นพิเศษลิมิเต็ดเอดิชันออกมาอีกหลายรุ่น จึงได้รับการตอบรับอย่างดี และเป็นรถเล็กรุ่นแรก ที่ติดตั้ง TurboChager และหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2528 และ Nissan March Super Turbo(รวมเทคโนโลยี่ Supercharger และ TurboCharger ไว้ในเครี่อง MA10ET ตัวเดียว )ในปี 2532 และสามารถทำยอดขายได้ครบ 1 ล้านคันในเวลาเพียง 6 ปีหลังจากเริ่มผลิต และมียอดขาย K10 รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.6 ล้านคัน
ในช่วงนั้น บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (สยามกลการในยุคนั้น) ได้มีการนำมาร์ชรุ่นแรกเข้ามาขายในประเทศไทยด้วย แต่ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ด้วยเพราะมาร์ชในประเทศไทยได้ตัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกออกมากเกินกว่าที่ลูกค้าจะยอมรับได้ มาร์ชในญี่ปุ่นมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากกว่า ดูน่าขับมากกว่า ในขณะที่โตโยต้า สตาร์เล็ต ให้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกมาเยอะกว่าและดูปราดเปรียวกว่า เพราะเป็นโมเดลเชนจ์ที่เปิดตัวตามหลัง March 3 ปี แต่ประเทศไทยเพิ่งนำมาขายจึงหมดโอกาสกวาดยอดขายก่อน Starlet จะเข้ามา หรือแม้แต่ซูซูกิ คัลตัส ที่บริษัทในเครือสยามกลการซึ่งก็คือสยามอินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น (ปัจจุบันคือ ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย) นำเข้ามา จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน มีทั้งเข็มวัดรอบสวยหรู เบาะสวยหรู มีสปอยเลอร์ ดูน่าเร้าใจมากกว่าอีกทั้งในช่วงนั้นรถที่คนไทยนิยมมากที่สุด คือรถเก๋งซีดานขนาดเล็ก เช่น มิตซูบิชิ แลนเซอร์, โตโยต้า โคโรลล่า, ฮอนด้า ซีวิค, นิสสัน ซันนี่ ฯลฯ เพราะมีความคุ้มค่าลงตัวที่สุด (บรรทุกได้หลายคน ใช้ได้ทั้งเป็นรถครอบครัวและรถส่วนตัว และไม่สิ้นเปลืองน้ำมันมากนัก) อีกทั้งคนไทยในสมัยนั้นมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อรถท้ายกุด ด้วยเกรงว่าผู้โดยสารที่เบาะหลังจะได้รับอันตรายได้ง่ายหากถูกชนท้ายเพราะไม่มีกระโปรงหลังคอยกั้น ทำให้ยอดขาย นิสสัน มาร์ชในประเทศไทยมีเพียง 30 คันต่อเดือนเท่านั้น (ทั่วประเทศ) ขณะที่ซันนี่ทำยอดขาย 200 คันต่อเดือน ส่วนสตาร์เล็ตชะตากรรมก็ไม่ต่างจากมาร์ช ถึงขั้นเชิญสื่อมวลชนไปเยี่ยมโรงงานและให้ทดลองขับก่อนวางจำหน่าย ทำยอดขายแค่ 50 คันต่อเดือนเท่านั้น หลังจากนั้นจึงแผ่วปลายลงไป จนบริษัทนิสสันในประเทศไทยหรือสยามกลการต้องยุติการขายมาร์ชอย่างเป็นทางการลง ใน พ.ศ. 2530 ก่อนที่จะมาเปิดตัวมาร์ชรุ่นที่ 4 อีกครั้งในปัจจุบัน นับจากนั้นนิสสันก็ไม่มีแผนประกอบรถเล็กวางจำหน่ายในไทยอีกเลย จนกระทั่ง Toyota กับ Honda ได้เปิดตัว Soluna และ City เพื่ออุดช่องว่างรถเล็กราคา 3-4 แสนบาท ในขณะที่ Corolla และ Civic ราคาแตะ 6 แสนบาทแล้ว ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้บรรดารถเล็กจากเกาหลีที่เคยได้รับความนิยมต้องม้วนเสื่อกลับไป และนิสสันเองอยากจะบุกตลาดรถเล็กบ้าง ทั้งๆ ที่ตัวเองประสบความล้มเหลวในตระกูล NV ซึ่งเป็นโครงการทำรถเล็กเพื่อตลาด ASEAN แต่เนื่องจากในสมัยนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเจอปัญหา ทำให้เป็นการนำ Sunny California และ Wingroad มาประกอบขายในไทย ในชื่อ NV-A แต่เนื่องจากราคาไม่ถูกจริงนัก และมีการเปิดเสรีรถนำเข้าแล้ว อีกทั้งคนไทยไม่นิยมรถ Station Wagon นัก จึงต้องมีการดัดแปลงเป็นรถกระบะหัวตั๊กแตน ในชื่อ NV Pickup (NV-B) ที่ทำยอดขายใช้ได้ และยังมีข่าวลือว่าสยามกลการจะดัดแปลง NV-A เป็นรถซีดานขนาดเล็กเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งในสมัยนั้น และตั้งราคาไว้ที่ 299,000 บาท ซึ่งไม่มีใครเชื่อ เพราะไม่น่าเป็นไปได้ หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ หลังจากนั้นภาพลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของนิสสันก็ค่อยๆ เลือนหายไปเพราะไม่มีรถเล็กอุดช่องว่าง จนกระทั่งเปลี่ยนมือไปสู่ยุคของพรเทพ พรประภา ความคิดที่จะทำรถเล็กก็ไม่เป็นรูปเป็นร่างซักที จนกระทั่งช่วงเปิดตัว Sunny NEO เมื่อเดือนกันยายนปี พ.ศ. 2543 ตอกย้ำว่ารถเล็กนั้นโตยากทั้งๆ ที่ผ่านช่วงวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ไม่นานนัก แต่จากการโหมกระหน่ำของ Toyota Soluna Vios และ Honda City ทำให้ตลาดรถยนต์นั่งขยายตัวเร็วมากจนทำให้นิสสันยากที่จะขยับขยายยอดขายให้ใกล้เคียงคู่แข่งได้ เนื่องจากในสมัยนั้นนิสสันมีรถยนต์นั่งเพียงแค่ Sunny NEO และ Cefiro ทำตลาดเท่านั้น ทำให้นิสสันไม่สามารถครอบครองยอดขายอันดับ 3 รองจากอีซูซุได้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน เมื่อคู่แข่งโกยฐานระดับล่างก็เท่ากับว่าสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งกว่านิสสันจนยากที่จะปฏิเสธ แต่ในสมัยนั้นหลังจากส่ง Carlos Ghosn มาบริหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ก็ไม่มีแผนที่จะทำรถเล็กเพื่อตลาด ASEAN เนื่องจากบริษัทแม่ในญี่ปุ่นบีบบังคับให้สยามกลการขายหุ้นอย่างเบ็ดเสร็จจึงไม่มีรถใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด จนกระทั่งเข้ามาบริหารเองได้ในปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน
นิสสัน มาร์ช รุ่นที่ 2 ใช้รหัสตัวถังว่า K11 ในการออกแบบได้ใช้โปรแกรม CAD มาช่วยในการสร้าง และออกแบบให้มีรูปทรงโค้งมน กลมกลึง ดูเป็นมิตรกว่ารุ่นเดิมมาก นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์แบบ CG10DE 4สูบ DOHC 16 วาล์ว 987 ซีซี เป็นเครื่องรุ่นมาตรฐาน มีระบบเกียร์ธรรมดา 5 สปีด กับเกียร์อัตโนมัติ CVT และได้สร้างสถิติอย่างน่าชื่นชม โดยได้รับรางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปีของญี่ปุ่น (Car of the Year Japan) ประจำปี 1992 และเป็นรถรุ่นแรกของญี่ปุ่นที่คว้ารางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปีของยุโรป (European Car of the Year) ประจำปี 1993 ซึ่งในรายการทีวีซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง แชมป์เฉือนแชมป์ ตอน World Records ที่ออกอากาศในประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2552 ในการแข่งขันดริฟท์จอดรถ ก็ใช้รถ นิสสัน มาร์ช รุ่นที่ 2 ในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม นิสสัน มาร์ช รุ่นที่ 2 ยังมีความปลอดภัยไม่มากเท่าที่ควร จากการทดสอบขององค์การทดสอบความปลอดภัยของยานยนต์ Euro NCAP ได้ประเมินว่า นิสสัน มาร์ช รุ่นที่ 2 มีความปลอดภัยเพียงระดับ 2 ดาว จาก 5 ดาว
นิสสัน มาร์ช รุ่นที่ 3 ใช้รหัสตัวถังว่า K12 พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของรูปแบบ B-Platform เปิดตัวใน พ.ศ. 2544 เริ่มการผลิตกันอย่างจริงจังใน พ.ศ. 2545 ตัวถังใหม่มีความโค้งมนมากขึ้น สูงขึ้น และกว้างขึ้น ซึ่งสือมวลชน รวมถึงสถาบันการออกแบบชั้นนำหลายแห่ง ก็ต่างออกมายอมรับว่างานชิ้นนี้มีดีไซน์แตกต่าง ดูเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการเน้นการเพิ่มพื้นที่ในห้องโดยสาร การใช้ไฟหน้ารูปทรงแบบดวงตาการ์ตูนบักส์ บันนี รูปทรงรถแบบลู่ลมช่วยลดแรงต้านลมระหว่างการวิ่ง (ค่า Cd.=0.32) เสาหลังคาหลังถูกลดความยาวลงเพื่อลดจุดบอดของสายตาขณะถอยจอด และมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ คือ Keyless Ignition คือจะมีรีโมทกุญแจไว้ให้เจ้าของรถ เมื่อเจ้าของรถพกรีโมทกุญแจเข้ามาในรถ จะสามารถกดปุ่มสตาร์ทรถได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้กุญแจ (เหมือน โตโยต้า ยาริส ในปัจจุบัน)
เครื่องยนต์เปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์แบบ CR โดยใช้เครื่องยนต์ CR10DE เป็นรุ่นมาตรฐาน เกียร์ธรรมดาถูกยกเลิกไปในเกือบทุกรุ่น ยกเว้นรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ประเภท CR12DE จะยังผลิตเกียร์ธรรมดาให้เลือกเป็นพิเศษ มีสีตัวถังให้เลือกถึง 12 สี
นิสสัน มาร์ช รุ่นที่ 4 ใช้รหัสการพัฒนาว่า W02A ภายหลังได้ใช้รหัสตัวถังเป็น K13 เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2552 และเริ่มผลิตในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 รวมถึงประเทศไทยด้วย หลังจากผลิตนิสสัน มาร์ชรุ่นที่ 1 ในประเทศไทยแล้วล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเมื่อกว่า 20 ปีก่อน นิสสันก็ตัดสินใจผลิตนิสสัน มาร์ชในประเทศไทยอีกครั้ง โดยใช้ชื่อในการโฆษณาว่า "นิสสัน อีโคคาร์" (Nissan Ecocar) ซึ่งจะใช้เครื่องยนต์ 1200 ซีซี 3 สูบ ซึ่งสามารถประหยัดน้ำมันได้ไม่แพ้รุ่นก่อนๆ โดยนิสสัน มาร์ช รุ่นใหม่นี้ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานข้อกำหนดรถประหยัดพลังงานสากล (อีโคคาร์) ซึ่งมีข้อกำหนดดังนี้
รถที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอีโคคาร์ ในประเทศไทย จะได้รับผลประโยชน์ในการลดภาษีสรรพสามิตเหลือร้อยละ 17 (รถเก๋งที่ไม่ผ่านเกณฑ์อีโคคาร์ ต้องจ่ายภาษีร้อยละ 30-50) และในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556 นิสสัน มาร์ช ก็ได้มีการไมเนอร์เชนจ์ขึ้น โดยปรับโฉมให้ดูสปอร์ตขึ้น